วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

จังหวัดมหาสารคาม Maha-Sarakham


เมืองมหาสารคามถือว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญและยาวนานมาหลายร้อยปี เพราะได้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยคุปตะตอนปลายและปัลลวะของอินเดียผ่านเมืองพุกามมาในรูปแบบของศิลปะสมัยทวารวดี เช่น บริเวณเมืองกันทรวิชัย (โคกพระ) และเมืองนครจำปาศรี โดยพบหลักฐาน เป็นพระยืนกันทรวิชัย พระพิมพ์ดินเผา ตลอดทั้งพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากนั้นแล้วยังได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ผ่านทางชนชาติขอม ในรูปแบบสมัยลพบุรี เช่น กู่สันตรัตน์ กู่บ้านเขวา กู่บ้านแดง และกู่อื่น ๆ รวมไปจนถึงเทวรูปและเครื่องปั้นดินเผาของขอมอยู่ตามผิวดินทั่ว ๆ ไปในจังหวัดมหาสารคาม มหาสารคามตั้งอยู่ตอนกลางของภาคอีสาน มีชนหลายเผ่า เช่น ชาวไทยพื้นเมืองพูดภาษาอีสาน ชาวไทยย้อและชาวผู้ไท ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี "ฮีตสิบสอง" ประกอบอาชีพด้านกสิกรรมเป็นส่วนใหญ่ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายมีการไปมาหาสู่กัน ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันตามแบบของคนอีสานทั่วไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยก "บ้านลาดกุดยางใหญ่" ขึ้นเป็น เมืองมหาสารคาม เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2408 โดยแยกพื้นที่และพลเมืองราวสองพันคนมาจากเมืองร้อยเอ็ด และโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวมหาชัย (กวด ภวภูตานนท์) เป็นพระเจริญราชเดช เจ้าเมือง มีท้าวบัวทองเป็นผู้ช่วยขึ้นกับเมืองร้อยเอ็ด

ภูมิประเทศ

ของจังหวัดมหาสารคาม เป็นพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบ ถึงลูกคลื่นลอนลาด พื้นที่โดยทั่วไปมีความสูงจาก ระดับน้ำทะเล ประมาณ 130 – 230 เมตร ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือเป็นที่สูงในเขตอำเภอโกสุมพิสัย อำเภอเชียงยืน และอำเภอกันทรวิชัย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่จังหวัด และค่อยๆ ลาดเทลงมาทางทิศตะวันออก และทิศใต้ มีลำน้ำชีไหลผ่าน พื้นที่ค่อนข้างลาดเทจากแนวทิศเหนือไปทางทิศตะวันออก พื้นที่เป็นลูกคลื่นประกอบด้วยเนินมออยู่ทั่วไปแต่ไม่มีภูเขา มีทุ่งนาสลับป่าโปร่ง ซึ่งมีไม้ในเขตร้อน หรือที่เรียกว่า ป่าโคก ขึ้นประปราย เช่น ไม้พวง เหียง กระบก เต็งรัง ตุมกา ฯลฯ สภาพภูมิประเทศสามารถแบ่งได้ 3 บริเวณ คือ
ที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำไหลผ่านจังหวัดมหาสารคาม เช่น บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำชี ที่อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมือง
พื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้น อยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย
พื้นที่สูง อยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกของจังหวัดในอำเภอโกสุมพิสัย อำเภอเชียงยืน แลพอำเภอกันทรวิชัย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 50 ของพื้นที่จังหวัด

ภูมิอากาศ

จังหวัดมหาสารคามมีสภาพภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน ( Tropical Monsoon Climate ) ในช้วงฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนอบอ้าว ในช่วงมรสุมฤดูร้อนจะได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งทำให้เกิดฝนตก สำหรับปริมาณน้ำฝนที่พื้นบริเวณจังหวัดได้รับนั้น ส่วนมากจะเกิดจากผลกระทบของพายุหมุนเขตร้อน ที่เคลื่อนผ่านประเทศเวียดนามและเข้าสูประเทศไทย
อุณหภูมิเฉลี่ยฤดูร้อนในรอบ 5 ปี (2542 – 2546) ประมาณ 41.14 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิสูงที่สุดวัดได้ 42.0 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2544 และในช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิจะลดลงต่ำลงมาก โดยในรอบ 5 ปี (2542-2546) มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 10.02 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2542
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิร้อนอบอ้าว ฤดูร้อนอุณหภูมิร้อนเฉลี่ย 39.1 องศาเซลเซียส
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมไปถึงเดือนตุลาคม เนื่องจากเป็นระยะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เข้าสู่ประเทศไทย ปริมาณฝนที่ตกในระยะ 6 เดือน อยู่ใยนเกณฑ์ตั้งแต่ 1 , 000 มิลลิเมตร/ปี
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 12.8 องศาเซลเซียส ทำให้อากาศหนาวเย็นตั้งแต่เดือนตะลาคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์

คำขวัญ :

พุทธมณฑลอีสาน ถิ่นฐานอารยธรรม ผ้าไหมล้ำเลอค่า ตักสิลานคร

ต้นไม้ :

พฤกษ์ (มะรุมป่า)

ดอกไม้ :

ลั่นทมขาว (จำปาขาว)

เว็บไซต์ :

http://www.mahasarakham.go.th

ศูนย์ราชการ :

ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม ถนนเลี่ยงเมืองมหาสารคาม-ร้อยเอ็ด ตำบลแวงน่าง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม 44000

แผนที่ :

แผนที่ท่องเที่ยว

หน่วยการปกครอง

การปกครองแบ่งออกเป็น 13 อำเภอ 133 ตำบล 1804 หมู่บ้าน ได้แก่
อำเภอเมืองมหาสารคาม, อำเภอแกดำ, อำเภอโกสุมพิสัย, อำเภอกันทรวิชัย, อำเภอเชียงยืน, อำเภอบรบือ, อำเภอนาเชือก, อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย, อำเภอวาปีปทุม, อำเภอนาดูน, อำเภอยางสีสุราช, อำเภอกุดรัง, อำเภอชื่นชม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น