วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

จังหวัดสุรินทร์ Surin


เมืองสุรินทร์เป็นเมืองที่สร้างอย่างมั่นคงในปางก่อน มีคูถึง 3 ชั้น มีเนินดินเป็นกำแพงเมือง น่าจะเป็นเพราะเห็นว่าเป็นเมืองหน้าด่านทั้งทางตะวันออก และทางใต้ซึ่งมีช่องข้ามเขาบรรทัดต่อจังหวัดสุรินทร์อยู่หลายช่อง คือ ช่องปราสาทตาเมิน, ช่องเสม็ก, ช่องดอนแก้ว เป็นต้น ซึ่งมีทางเดินไปสู่ศรีโสภณ และเมืองจงกัน ยังมีคนและเกวียนเดินอยู่ทุกช่อง แต่เป็นทางลำบาก คงสะดวกแต่ช่องตะโก ต่อมาทางตะวันตก ซึ่งกรมทางได้ไปทำงานไว้เรียบร้อยแล้ว บริเวณเมืองสุรินทร์เป็นพื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมตลอดปี แต่ก็ทำไร่นาได้ เป็นทุ่งใหญ่ บ้านเมืองกำลังจะเจริญขึ้น เพราะเป็นปลายทางรถไฟ มีห้องแถวคึกคักไม่หย่อนกว่าอุบล และกำลังสร้างทำอยู่อีกก็มีมาก พลเมืองแห่งจังหวัดสุรินทร์เป็นเขมรเป็นชาวพื้นเมือง เช่น บุรีรัมย์ นางรอง มีลาวเจือปนบ้างเป็นส่วนน้อย กับมีชาติส่วยอีกพวกหนึ่ง ซึ่งว่าพูดภาษาของตนต่างหาก ตามที่ผู้รู้กล่าวว่า พื้นเป็นภาษาเขมรเจือด้วยคำลาว พวกเขมรพลเมืองสุรินทร์ยังคงพูดภาษาเขมร อยู่ทั่วไปและที่กล่าวว่าไม่รู้ภาษาไทยก็มีต้องใช้ล่ามเนืองๆ ผู้ปกครองท้องถิ่น เห็นว่าเป็นการดิ้นรน แสร้งทำเป็นพูดไทยไม่ได้ก็มีอยู่มาก แต่ในการปกครองไม่ปรากฏว่ามีความยากลำบากอะไรกว่าพลเมืองธรรมดา ในเรื่องของภาษาเขมรสอบสวนได้ความว่า วิชชาหนังสือขอมสูญแล้ว ไม่มีใครเรียน และไม่มีที่เรียน เพราะโรงเรียนสอนภาษาไทยอย่างเดียว เวลานี้มีแต่คนแก่ๆ เท่านั้นที่รู้หนังสือขอม ได้เพียงนี้ก็เห็นว่าในทางปกครองที่จะให้เกิดเป็นสำนึกของคนไทย นับว่าได้ทำไปได้มากแล้ว ถ้าจัดการโรงเรียนให้เจริญขึ้นอีก และในต่อไปการคมนาคมกับกรุงเทพสะดวกขึ้น พลเมืองพวกนี้จะรู้สึกตัวเป็นไทยยิ่งขึ้นทุกวัน

ภูมิประเทศ

จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบสูงมีลักษณะพื้นที่ดังนี้
ทางตอนใต้ของจังหวัด เป็นพื้นที่ราบสูง มีภูเขาสลับซับซ้อนหลายลูก มีป่าทึบสลับป่าเบญจพรรณตามบริเวณแนวเขตชายแดน (อำเภอบัวเชด อำเภอสังขะ อำเภอกาบเชิง และอำเภอพนมดงรัก) ที่ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา ต่อจากบริเวณภูเขาลงมาเป็นที่ราบสูง ลุ่มๆ ดอนๆ ลาดเทมีลักษณะเป็นลูกคลื่น ค่อยๆ ลาดเทไปทางตอนกลางและตอนเหนือของจังหวัด
ทางตอนกลางของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม แต่มีพื้นที่บางส่วนเป็นที่ดอน สลับที่ลุ่มลอนลาดเช่นเดียวกัน แต่ไม่มากเท่าทางตอนใต้ของจังหวัด (อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอศรีขรภูมิ อำเภอสำโรงทาบ อำเภอลำดวน และอำเภอศรีณรงค์)
ทางตอนเหนือของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ (อำเภอจอมพระ อำเภอสนม) และที่ราบลุ่ม (อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม อำเภอรัตนบุรี และอำเภอโนนนารายณ์) โดยเฉพาะอำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม อยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลในเขตของ ทุ่งกุลาร้องให้ ลักษณะของดินในจังหวัดสุรินทร์ เป็นดินร่วนปนทราย มีบางพื้นที่ เช่น อำเภอเขวาสินรินทร์ เป็นดินเหนียวปนทราย ฉะนั้นดินในจังหวัดสุรินทร์จึงอุ้มน้ำได้น้อย

ภูมิอากาศ

จังหวัดสุรินทร์ อยู่ในแถบของลมมรสุมเขตร้อน ลักษณะของลมฟ้า อากาศ และปริมาณน้ำฝน จะขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมเป็นสำคัญ ลมมรสุมที่พัดผ่าน คือ
1. ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่บริเวณภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดฝนตก แต่จังหวัดสุรินทร์ได้รับปริมาณน้ำฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีเทือกเขาพนมดงรักกั้นอยู่ ปริมาณน้ำฝนส่วนใหญ่มาจากอิทธิพลของลมพายุในทะเลจีนใต้
2. ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดจากแคว้นไซบีเรียและทางตอนเหนือของประเทศจีน ทำให้เกิดความหนาวเย็นและความแห้งแล้งโดยทั่วไป โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง
3. ฤดูกาลในจังหวัดสุรินทร์ มี 3 ฤดู ในแต่ละฤดูจะมีช่วงเวลาไม่คงที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และอิทธิพลของลมมรสุมเป็นหลัก แต่โดยทั่ว ๆ ไป พอสรุปได้ดังนี้
ฤดูร้อน อยู่ระหว่างช่วงเดือน กุมภาพันธ์ หรือมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนอบอ้าว และร้อนจัดมากในบางช่วงส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งโดยทั่วไป
ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม ปริมาณน้ำฝนไม่แน่นอน บางปีมาก บางปีน้อย ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมและลมพายุดีเปรสชันในทะเลจีนใต้
ฤดูหนาว อยู่ระหว่างช่วงเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม ความหนาวเย็นในแต่ละปีขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และร่องความกดอากาศต่ำจากประเทศจีน

คำขวัญ :

สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม

ต้นไม้ :

กันเกรา

ดอกไม้ :

กันเกรา

เว็บไซต์ :

http://www.surin.go.th

ศูนย์ราชการ :

ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ ถนนหลักเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ 32000

แผนที่ :

แผนที่ท่องเที่ยว

หน่วยการปกครอง

จังหวัดสุรินทร์มีการปกครองแบ่งออกเป็น 17 อำเภอ 158 ตำบล 2011 หมู่บ้าน
อำเภอเมืองสุรินทร์, อำเภอชุมพลบุรี, อำเภอท่าตูม, อำเภอจอมพระ, อำเภอปราสาท, อำเภอกาบเชิง, อำเภอรัตนบุรี, อำเภอสนม, อำเภอศีขรภูมิ, อำเภอสังขะ, อำเภอลำดวน, อำเภอสำโรงทาบ, อำเภอบัวเชด, อำเภอพนมดงรัก, อำเภอศรีณรงค์, อำเภอเขวาสินรินทร์, อำเภอโนนนารายณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น